ข่าวสารกิจกรรม

อบรมเชิงปฏิบัติการ

Posted On 14/03/2562 By Admin

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ ให้เป็น องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ปี 2551 จนเกิดเป็นโครงการ ‘แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ’ ภายใต้แนวคิด ‘หลักความสุข 8 ประการ’ โดยมี 18 องค์กรภาครัฐเข้าร่วมโครงการและได้สานต่อโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร ‘นักสร้างสุของค์กร’ เมื่อวันที่ 7-9 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายการพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน


ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐ กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรที่ลดน้อยลง หากแต่ปริมาณของงานกลับเพิ่มและมีความซับซ้อนของเนื้องานมากยิ่งขึ้น ทั้งต้องคำนึงถึงการลดต้นทุน ในขณะที่ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของบุคลากรโดยตรง แนวคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีภายในองค์กร จึงกลายเป็นนโยบายที่หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญ ขณะที่ในบางหน่วยงานได้เริ่มปฏิบัติจนสำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้ว ด้วยความเชื่อที่ว่า การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ ของบุคลากร จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดศักยภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น


นพ. ชาญวิทย์ วสันธนารัตน์ ผอ. สสส. ผู้ริเริ่มแนวคิดต้นแบบในเรื่องการชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบที่ เริ่มจากการปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการ ได้กล่าวถึงโครงการ ฯ ว่า “องค์กรแห่งความสุข หมายถึงการออกแบบองค์กรให้บุคลากรทุกคนมีความสำคัญ และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ดังนั้น นักสร้างสุของค์กร จึงเปรียบได้กับการฝังเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายฐานรากให้แข็งแกร่งซึ่งจะให้ ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสังคมในทางที่ดีขึ้น

“นัก สร้างสุของค์กร คือผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลองค์กรกับเครือข่ายภาคีของ หน่วยงานต่าง ๆ แล้วนำสิ่งที่ได้กลับไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของหน่วยงานที่ตนสังกัด และสอดคล้องตามสภาพสังคม


“ในปัจจุบันโครงสร้างการทำงานในระบบราชการได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากใน อดีต โดยคนรุ่นใหม่จะมีทัศนคติว่า องค์กรจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการรอบด้านในชีวิตได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือเรื่องของ ความสุขในการทำงาน คนรุ่นนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามีทักษะการบริหารจัดการแตกต่างกับคนรุ่นก่อน จึงเข้ามาสู่องค์กรด้วยเป้าหมายหลัก คือ พวกเขาต้องการมีความสุขกับชีวิตไปพร้อมกับการทำงาน ตรงจุดนี้ถ้าระบบราชการไม่ออกแบบให้เอื้อกับเขา คนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความสามารถเขาก็มีทางเลือกอื่นที่ตอบโจทย์ชีวิตเขาได้มากกว่า นี่เป็นทิศทางของการสร้างรูปแบบองค์กรในอนาคต

“องค์กรแห่งความสุข จะเกิดขึ้นได้ภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก 1 คือการเตรียมคนให้มีทักษะด้านชีวิตกับการทำงานที่สอดคล้องกับองค์กรนั้น ๆ นำไปสู่ 2 คือการปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบุคลากร และ 3 ซึ่งสำคัญมาก คือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน กระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อสร้าง ผลผลิตและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงาน คล้ายเป็นการตกผลึกด้านแนวคิด ว่าองค์กรแห่งความสุขจะต้องเน้นที่เรื่อง ‘คน’ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายของรุ่น ของความต้องการด้านต่าง ๆ ในชีวิต ดังนั้นจึงหมดสมัยของการที่ใครก็ตามเมื่อเข้าสู่ระบบราชการแล้วจะต้อง เปลี่ยนแปลงตนเองตามรูปแบบขององค์กรเพียงอย่างเดียว


“เหนืออื่นใดเรา ต้องสร้างความภูมิใจกับคุณค่าในการทำงานราชการ ให้บุคลากรได้ตระหนักว่าพวกเขากำลังทำงานที่มีความหมาย คือการรับใช้ประเทศชาติ ที่ทุกคนจะได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จร่วมกัน สำหรับโครงการนี้ถือเป็นการขยับเขยื้อนก้าวแรกที่ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ก่อนนำไปต่อยอดความคิดออกมาเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดเป็นองค์กรแห่งความสุขร่วมกันได้จริง ๆ “

สำหรับ ดร. ศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการ ‘แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ’ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตร ‘นักสร้างสุของค์กร’ ว่า “นับเป็นครั้งแรกของความร่วมมือกันระหว่าง 18 องค์กรภาครัฐ ที่ได้ลงมือปฏิบัติกันในส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานให้เหมาะสมกับ โลกสมัยใหม่ ซึ่งการจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ บุคลากรในหน่วยงานควรมีคุณภาพชีวิตส่วนตัวที่สมดุล ทั้งในเรื่องงาน ครอบครัว และความสุขของตนเอง ซึ่งในหลายหน่วยงานได้เริ่มแนวทางการสร้างสุขภาวะในองค์กรมาแล้วในระดับ หนึ่ง และได้นำมาแลกเปลี่ยนกันถึงปัจจัยและกระบวนการสู่ความสำเร็จ หรือหากยังมีอุปสรรค อะไรคือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้ทุกหน่วยงานบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน”


ในส่วนของวิทยากร นายนัทธี สว่างจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้นำประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในองค์กรมาบรรยายในหัวข้อ ‘ความสำเร็จจากการพัฒนาองค์กรต้นแบบองค์กรสร้างสุขในการทำงาน’ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการสร้าง ‘องค์กรแห่งความสุข’ ให้สำเร็จได้ คือการดูแลสภาพการทำงานให้มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดให้บุคลากรในหน่วยงานเกิดความรักและภูมิใจกับงานที่ทำ โดยมุ่งเน้นที่เนื้องาน ผู้ร่วมงาน และที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานราชการ คือ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้มีความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานอย่างเป็น ธรรม เช่น การสอบเลื่อนระดับขั้นต่าง ๆ จะต้องทำอย่างโปร่งใสมีกฎกติกาชัดเจน


“สองคือเรื่องหนี้สิน อันเป็นปัญหาของข้าราชการส่วนใหญ่ ที่เราต้องช่วยให้คำแนะนำในการบริหารจัดการ ให้การเกิดหนี้สินเป็นไปในรูปแบบของการลงทุน ไม่ใช่หนี้สินประเภทไม่ก่อรายได้ เช่น การเปิดคลินิกหนี้ เพื่อแนะนำด้านการบริหารเงิน การแก้ปัญหา และการผ่อนชำระโดยเรียงลำดับความสำคัญของหนี้สิน สามคือเรื่องครอบครัว ที่เราจะต้องช่วยดูแลครอบครัวของบุคลากรในหน่วยงานด้วย สิ่งนี้จะปลูกฝังให้เขารักองค์กรมากขึ้น และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อศักยภาพในการทำงานมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เรื่องที่สี่คือสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นกิจกรรมนันทนาการอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความผูกพันในหมู่ผู้ร่วมงาน และต่อองค์กร และสุดท้ายเป็นเรื่องของที่พักอาศัย ทั้งในแง่การเดินทางและสภาพความเป็นอยู่ ที่เราต้องช่วยให้คำปรึกษาหรือจัดเตรียมไว้ให้เหมาะสม แต่แนวทางทั้งหมดนั้น จะเป็นไปได้จริงก็ต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้ง เพราะไม่ว่าบุคลากรในหน่วยงานจะมีรายได้สูงเท่าไหร่ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีแค่ไหน หากความต้องการยังไม่เพียงพอ ความพอดีจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้”


ในด้านมุมมองการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ได้มีผู้แทนระดับสูงจากองค์กรภาครัฐส่วนต่าง ๆ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘คุณภาพชีวิตการทำงานในระบบราชการ: ทางตัน ทางออก ทางรอด’ ซึ่งแต่ละฝ่ายได้นำเสนอแนวทางในการสร้างองค์กรแห่งความสุข ที่ได้เน้นความสำคัญตามรูปแบบเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน โดยในส่วนของ นาย ประสาท ตราดธารทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหาร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอเรื่องการสร้างสถานที่รับเลี้ยงบุตรหลานของข้าราชการในหน่วยงาน โดยเฉพาะครอบครัวใหม่ซึ่งมีเด็กเล็กต้องดูแล ให้มีสถานที่รองรับอยู่ในบริเวณที่ให้ความอุ่นใจ นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นโครงการ ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ โดยจัดให้มีหน่วยงานช่วยดูแลซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในครัวเรือนเมื่อเกิดปัญหาขัดข้อง เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ เพื่อลดความกังวลในด้านความปลอดภัย และให้ความสะดวกต่อข้าราชการในหน่วยงานให้เอื้อต่อการทำงานอย่างเต็มที่


ขณะ ที่ นาย มนัส กำเนิดมณี ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมชลประทาน ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุม วิถีชีวิตของคนในองค์กรอย่างครบครัน ตั้งแต่สถานที่อยู่อาศัย โรงเรียน วัด ตลาด โรงพยาบาล สโมสร หรือสถานที่ทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ได้กล่าวถึงเรื่อง องค์กรแห่งความสุข ที่แยกจากเรื่องของสวัสดิการซึ่งเป็นเพียงเรื่องพื้นฐาน โดยเน้นที่ความสุขในการทำงานของบุคลากร ที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมการทำงาน ด้านอาคารสถานที่ตลอดจนบริเวณที่ใช้ทำงาน ให้มีความสะดวก ปลอดภัยและเหมาะสมกับยุคสมัย


และท้ายสุด นาย นิวัติไชย เกษมมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในส่วนของการตรวจสอบ เชื่อว่า หากแผนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยสามารถช่วยเหลือข้าราชการระดับทั่วไปให้มีความ พึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตของตนเองได้จริง จะมีส่วนในการช่วยลดอัตราของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการทุจริตได้มาก เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว ปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอมักเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของการทุจริต ซึ่งผู้กระทำประพฤติจนเป็นพฤติกรรมเคยชิน และกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศในที่สุด

ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ‘นักสร้างสุของค์กร’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนเบื้องต้นในโครงการ แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานขององค์กรภาครัฐ ที่มีการวางแผนต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อนำไปปรับพัฒนาต่อยอด และเผยแพร่สู่องค์กรภาครัฐในวงกว้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานของข้า ราชการไทย ให้ดีขึ้นเป็นลำดับต่อไป


ที่มา: บ้านเมือง

ข่าวสารอื่นๆ

รัฐสภา ขานรับนโยบายนายกฯ นำขรก.-จนท. ออกกำลังกาย

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมออกกำลังกายตามนโยบายของรัฐบาล

View more

จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. จับมือพัฒนาคุณภา​พชีวิต

จุฬาฯ ร่วมกับ สสส. จับมือพัฒนาคุณภา​พชีวิตการทำ​งานของข้ารา​ชการไทย

View more

ถนนแห่งความสุข

สสส ผนึกภาครัฐร่วมขยายผล ถนนแห่งความสุข HAPPY HIGHTWAY

View more

สภาเด้งรับนโยบาย ‘บิ๊กตู่’ จัดเต้นแอโรบิก แดนซ์ซิ่ง พร้อมเพรียง

ข้าราชการรัฐสภา “แดนซ์ซิ่ง แอโรบิก” พร้อมเพรียงตามนโยบาย “บิ๊กตู่” เต้นซุมบ้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

View more