เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ในการประชุมระดับชาติ “National Forum on Human Resources for Health 2017: การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยห้อง Sapphire 203 ได้จัดเสวนาหัวข้อ “องค์กรแห่งความสุขภาครัฐ: แรงบันดาลใจและศักยภาพคนทำงาน” ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าฟังจำนวนมาก
นายศิริเชษฐ์ สังขะมาน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดการสร้างองค์กรแห่งความสุขว่า องค์กรแห่งความสุขเป็นแนวคิดหลักที่มุ่งดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนทำงานในองค์กร เพราะเมื่อคนทำงานในองค์กรมีความสุขย่อมส่งผลดีต่อผลผลิตขององค์กร ความผาสุกในครอบครัว ชุมชน และส่งผลให้สังคมมีความสุขที่ยั่งยืน
องค์กรแห่งความสุขคือองค์กรที่สามารถกระตุ้น จูงใจ สร้างความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจให้ทุกคนในองค์กร สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พร้อมปฏิบัติภารกิจขององค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 2 เสาหลัก ได้แก่
1.องค์กร ซึ่งมองว่าต้องจัดการองค์กรที่มีความหลากหลายให้สามารถเดินไปได้ด้วยความมีสมรรถนะ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน
2.คน คือจัดการให้คนที่มีปัญหาสามารถแก้ปัญหารายบุคคลได้อย่างมีความสุข
นายศิริเชษฐ์ กล่าวอีกว่า หากต้องการทำให้องค์กรแห่งความสุขขับเคลื่อนได้ จำเป็นต้องมีระบบที่พัฒนาและบุคลากรต้องมีความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมบุคคลเปลี่ยนแปลงไปตามที่คาดหวัง โดยแท้ที่จริงแล้วการทำงานอย่างมีความสุขไม่ได้มีอะไรมาก ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดีก็คือหากทำงานแล้วสามารถนำพาคนที่ทำงานร่วมกันให้มีความสุขไปด้วย
น.ส.สิริวรรณ โชติพันธุ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ภาระงานของสำนักงานวุฒิสภาเป็นภาระงานระดับชาติแทบทั้งสิ้น โดยในปี 2558-2559 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินการสร้างองค์กรแห่งความสุข โดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ที่ สสส.กำหนด ได้แก่ HAPPY BRAIN, HAPPY SOUL, HAPPY RELAX, HAPPY BODY, HAPPY HEART, HAPPY SOCIETY, HAPPY FAMILY และ HAPPY MONEY เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
“หัวหน้าส่วนราชการต้องให้ความสำคัญเป็นหลัก ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกๆ คนในองค์กร เมื่อทุกคนมีความรู้ความเข้าใจแล้ว การดำเนินการตาม 8 ตัวชี้วัดก็จะประสบผลสำเร็จและเกิดความยั่งยืนขึ้น ส่วนตัวเสนอว่าควรจัดทำเป็นนโยบายองค์กรระยะยาว เช่น นโยบายองค์กรแห่งความสุข 20 ปี” น.ส.สิริวรรณ กล่าว
นายสุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC กล่าวว่า สัดส่วนการศึกษาของบุคลากรในองค์กรจบปริญญาเอก 20% ปริญญาโท 40% และปริญญาตรี 40% โดยธรรมชาติของนักวิจัยในองค์กรมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ทำงานไม่ยอมกลับบ้าน 2.นำงานกลับไปทำที่บ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนในองค์กรขาดปฏิสัมพันธ์กัน และปัญหาที่ตามมาก็คือคนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถจะคุยอะไรก็ได้แล้วสบายใจมากกว่าคุยกันแต่งาน
นายสุธี กล่าวอีกว่า โจทย์ของ NECTEC คือต้องทำให้บุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขามากขึ้น ซึ่งตัวอย่างหนึ่งคือกิจกรรมปลูกผักปลูกต้นไม้ที่เริ่มทำให้คนเหล่านั้นมีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน สุดท้ายงานก็เดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
“สิ่งที่จะจุดติดกับคนในองค์กรต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขา โดยเฉพาะ HAPPY BODY HAPPY RELAX และ HAPPY MONEY ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมปลูกผัก ซึ่งไม่ได้ปลูกเฉพาะผักแต่มันปลูกความสัมพันธ์ได้ด้วย เวลาเขาขึ้นไปดูแปลงผักก็ได้ผ่อนคลาย เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน แล้วมันก็จะไปสู่เรื่องงานได้เอง” นายสุธี กล่าว
น.ส.กุลภัสสร์ ฉัตรฐานันท์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เป็นหนึ่งในจิตอาสาที่นำองค์กรแห่งความสุขเข้ามาในกรมพินิจฯ โดยที่ผ่านมากรมพินิจฯ เป็นองค์กรที่อยู่กับความเครียด อยู่ในสถานที่จำกัด ต้องดูแลเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญคือไม่เคยมีการขับเคลื่อนเรื่ององค์กรใดๆ จึงได้พูดคุยกับผู้บริหารเรื่องแนวคิดองค์กรแห่งความสุข และขอให้ผู้บริหารไปลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สสส. จากนั้นก็ส่งบุคลากรไปอบรม และทำโครงการของบประมาณสนับสนุนจาก สสส.เพื่อดำเนินการกับสถานพินิจ 21 แห่ง
“เรามีกิจกรรมปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย หรือบุคลากรที่ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เจ้าหน้าที่ก็ใช้เวลาออกกำลังร่วมกับเด็กและเยาวชนในชั่วโมงเรียน ซึ่งสถานพินิจทั้ง 21 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการมีความสุขขึ้น และต้องการร่วมโครงการต่อไป”น.ส.กุลภัสสร์ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ หาญกล้า ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนมักบอกกันว่าต้องการความสุข แต่ถามว่าในความสุขนั้นเราหาความพอดีแล้วหรือไม่ กรมประชาสัมพันธ์จึงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพิเศษของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นขอบเขตของการสร้างความสุขในองค์กร จนเป็นที่มาของโครงการสุข 8 ประการ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เราได้วิเคราะห์กันว่าคนกรมประชาสัมพันธ์ยุค 4.0 ต้องเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าต้องเป็นคนเก่งและดีและมีความสุขจึงจะอยู่ในองค์กรได้ โดยได้คัดเลือกอาสาสมัครทั่วประเทศมาอบรมเป็นนักสร้างสุข ขณะเดียวกันเราได้น้อมนำปรัชญาฯ มาปลูกฝังคนในกรม จากนั้นก็ให้การบ้านคือให้เขาเหล่านั้นทำโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับความสุขมาว่าจะขยายผลอย่างไร เช่น แปลงปลูกผัก กิจกรรมออกกำลังกาย คาราโอเกะ จากนั้นเราก็ให้การสนับสนุนจากงบของ สสส. และเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการถอดบทเรียนและมีการค้นหาสุดยอดต้นแบบ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลจากแผนงานสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ (Public Sector Quality of Work Life Promotion) ระบุถึงยุทธศาสตร์ในการสร้างองค์กรแห่งความสุขว่า มีด้วยกัน 5 ประการ ประกอบด้วย
1.ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรจากหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อนำกลับไปเผยแพร่ปรับใช้ภายในองค์กรของตน
2.สื่อสารระหว่างองค์กร เพื่อจัดประเด็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการนำองค์กรข้ามผ่านทุกความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่
3.ถอดบทเรียนที่ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรต่างๆ และนำมาใช้เป็นแบบอย่างสำหรับส่วนราชการอื่นในอนาคต
4.แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงของแต่ละองค์กร เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและสร้างจุดร่วมทางความคิดที่เกิดจากการตกผลึกร่วมกันในบรรยากาศของสุนทรียสนทนา
5.สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่เชื่อมต่อส่วนราชการทั้งหมด เพื่อถ่ายทอดและรักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนในฐานะสมบัติร่วมกันของส่วนราชการทั้งหมด
ที่มา: Hfocus