เปิดผลสำรวจคุณภาพชีวิตเจ้าหน้าที่สภาไทย พบ 52% เสี่ยงภาวะอ้วนลงพุง ชีวิตการทำงาน “ความเครียด-ชั่วโมงการทำงาน-รักในองค์กร” อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงระดับดี ขณะที่การจัดการทางการเงินพบส่วนใหญ่หนี้ที่อยู่อาศัย ขาดการวางแผนการออม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จับมือ สสส.-สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ดึงเครื่องมือพัฒนาสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน พัฒนาสภาให้เป็นองค์กรแห่งความสุข
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่อาคารรัฐสภา 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบสุขภาพในองค์กร โดยมีเป้าหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรแห่งความสุข
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีบุคลากรทั้งสิ้น 2,240 คน หากจำแนกเป็นเจเนอเรชั่นจะพบว่า กลุ่มเจนเอกซ์ มีสัดส่วนสูงสุดคือ 59% ตามด้วยเจนวาย 24% และเบบี้บูม 17% กลุ่มเจนเอกซ์และวายจึงเป็นกลุ่มวัยแรงงานที่ต้องทำให้คนเหล่านี้มีความสุขในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำให้เกิดความรักและผูกพันกับองค์กร เพราะจากการศึกษาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย ปี 2555-2557 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เจนวาย เป็นวัยที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนงานหากมีโอกาสสูงสุดถึง 80%
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปี 2558 พบว่า การประเมินสุขภาพตนเองอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่รับประทานอาหารเช้า พักผ่อนเพียงพอ และอัตราการสูบบุหรี่ในเกณฑ์น้อย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ 52% มีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง ส่วนชีวิตการทำงานพบว่า มีระดับความเครียดจากการทำงานบทบาทในการวางแผนงานที่ทำ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง และความรักในองค์กรพบว่าอยู่ในระดับปานกลางถึงดี ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในผลตอบแทน ส่วนภาระหนี้สินพบว่า อันดับ 1 คือหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัย 48% ตามด้วยการผ่อนชำระสินค้าหรือบริการ 37% และยานพาหนะ 32% ที่น่าสนใจคือ การวางแผนการออมพบว่า ส่วนใหญ่มีการออมแต่ขาดการวางแผนถึง 51% มีเพียง 28% ที่วางแผนการออม และ 15% ไม่มีการออม ดังนั้นการทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรแห่งความสุขจึงเป็นโจทย์ท้าทายการทำงาน จึงร่วมกับสสส.ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในการพัฒนาให้เกิดองค์กรแห่งความสุข และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการถอดบทเรียนการทำงานและสนับสนุนทางวิชาการ
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสสส. กล่าวว่า จากสังเคราะห์ 100 องค์กรหลากสุขที่สสส.ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นพบว่ามีคุณลักษณะที่คล้ายกัน 4 เรื่องคือ 1. การใส่ใจปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพของบุคลากรอย่างเหมาะสม ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต 2. บุคลากรภูมิใจที่ได้ทำงานหรือเป็นสมาชิกขององค์กร 3. บรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความเป็นครอบครัวเดียวกัน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และ 4. ความมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจหรือมีธรรมาภิบาล โดยผู้บริหารจะเน้นเรื่องคุณค่าความมีจริยธรรมทางธุรกิจ การไม่เอาเปรียบพนักงานและลูกค้า เคารพและใส่ใจต่อชุมชนรอบข้าง เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาให้เกิดองค์กรแห่งความสุขต้องคำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ความสุขจากการบริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข โดยสสส.จะสนับสนุนองค์ความรู้และระบบการจัดการสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุขผ่านมีโปรแกรมวัดสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน ซึ่งหากสภาทำได้สำเร็จ บุคลากรมีความสุขจะเป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับองค์กรอื่นในประเทศไทย
ที่มา: matichon