จากการประชุมและเสวนาเพื่อถอดบทเรียน คณะนักวิจัยทำการสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความสุขที่เกิดในที่ทำงาน เพื่อองค์กรจะสามารถนำไปใช้ในการสร้างและเอื้ออำนวยให้เกิดกิจกรรมหรือการดำเนินการสร้างสุขภายในองค์กรโดยอาจพิจารณาก้าวผ่านปัจจัยพื้นฐานต่างๆ อาทิ งบประมาณ โครงสร้าง หรือนโยบายของผู้บริหารองค์กร ฯลฯ โดยทั้งนี้เพื่อสามารถใช้เป็นมุมมองสำหรับผู้บริหาร (คนสร้างบ้าน) หรือผู้ปฏิบัติงาน(คนที่อยู่ในบ้าน) ในการพิจารณาใช้ในการสร้างสุขภายในองค์กร จึงใช้มิติที่มองจากด้านบน (Top View ) ของปิรามิดลงมา ทำให้เกิดภาพซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับภาพตัดขวางของต้นไม้ตามหลักในธรรมชาติ สามารถใช้เพื่อการสื่อสาร มีลักษณะแสดงดังในโมเดลต้นไม้แห่งความสุขซึ่งสามารถนำไปพิจารณาใช้เพื่อเป็นรูปแบบของการสร้างสุขภาวะองค์กรของภาครัฐ ลักษณะดังต่อไปนี้
จากรูป เมื่อพิจารณาภาพตัดต้นไม้ความสุข 8 ประการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้จากความต้องการสร้างสุขภาวะองค์กรของบุคลากรในหน่วยงานของภาครัฐนั้น สามารถจำแนกชั้นของการสร้างสุขภาวะองค์กรตามวิถีทางธรรมชาติออกได้เป็น 3 ชั้นคือ
ชั้นที่ 1 ชั้นนอกสุด จะเป็นส่วนของเปลือกต้นไม้แห่งความสุข
ส่วนนี้จะเป็นชั้นพื้นฐานของความสุขที่องค์กรจะต้องสร้างให้มีแก่บุคลากรในหน่วยงาน โดยควรสร้างหรือเติมเต็มในลักษณะที่ต้องมีอยู่อย่างเพียงพอ นั่นคือ “ ให้มีสุขที่มีมาก ดีกว่าขาดหรือไม่มีอยู่เลย” และต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ควรกำหนดให้มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์อะไรมากมายเพื่อความคล่องตัวยืดหยุ่นในการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อการสร้างสุขดังกล่าว ส่วนนี้จะเปรียบเหมือนเปลือกของต้นไม้ซึ่งต้องมีไว้เพื่อห่อหุ้มสำหรับเป็นช่องทางลำเลียงอาหารสู่การล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นไม้เองเพื่อความเจริญเติบโตหรืองอกงาม และเป็นชั้นของผิวที่ใช้ห่อหุ้มสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรในหน่วยงานให้มีสุขภาวะในขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเพียงพอ ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินหรืองบประมาณ สุขภาวะทางด้านสุขภาพร่างกาย สุขภาวะในด้านเกี่ยวกับครอบครัว และในด้านของทางสังคม เป็นต้น
ชั้นที่ 2 ชั้นกลาง จะเป็นส่วนของเนื้อของต้นไม้ความสุข
ส่วนนี้จะเป็นชั้นความสุขที่องค์กรต้องสร้างให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้เกิดหรือมี และต้องเติมเต็มอย่างมีความสมดุล เป็นความสุขที่เกิดจากในการทำงาน หรือเกิดจากการเติบโตหรือการเลื่อนไหลในอาชีพหรือสายงาน ในขณะเดียวกันบุคลากรควรต้องมีความสุขที่ได้รับจากการผ่อนคลายหรือการพักผ่อนควบคู่ไปกับการทำงานในองค์กรอย่างมีความสมดุลของการสร้างสุขในทั้งสองประการ ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างสุข จึงควรออกแบบให้มีความสอดคล้องและสมดุลกับความต้องการของบุคลากรในหน่วยงาน
ชั้นที่ 3 ชั้นในสุด จะเป็นแก่นของต้นไม้ความสุข
ในชั้นนี้ จะเป็นชั้นของแก่นความสุข เปรียบเหมือนแก่นในของต้นไม้ ซึ่งองค์กรจะไม่สามารถสร้างให้เกิดหรือมีขึ้นให้แก่บุคลากรได้อย่างโดยตรงทีเดียว แต่จะต้องเกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นมาจากการมีจิตอาสาภายในตัวตนของบุคลากรนั่นเอง หรือเกิดขึ้นจากการตระหนักรู้จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข แต่ว่าองค์กรเองก็จะต้องมีบทบาทในลักษณะที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นซึ่งความสุขภายในช่วงเวลา หรือในจังหวะที่เหมาะสม และหากบุคลากรมีความตระหนักรู้ ภายในมีสภาพบริบทขององค์กรที่เหมาะสม ก็จะสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดความสุขในองค์กรได้ ซึ่งสุขที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะของความสุขที่เป็นแก่นแท้ อันจะนำพาไปสู่สุขภาวะองค์กรในระดับที่จะมีความมั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต