สสส. เจาะลึกทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็น ห่วงสุขภาพคนไทยปี 64 ดิ่ง! ดึงเทรนด์รักสุขภาพบูมรับชีวิตวิถีใหม่ ขณะที่วิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าโลก ข่าวลวงว่อน-เครียด-เนือยนิ่ง-ป่วย NCDs ยิ่งเสี่ยง ปัญหา ‘ฝุ่นควัน PM2.5’ อันตราย พบคนตายจากโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 1.5 เท่า วัยรุ่นไทย 2 ใน 3 มีภาวะซึมเศร้า การกินอยู่อย่างไทยคนเมืองแนวโน้มเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่า
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที “Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 Rewind to the future มองเทรนด์สุขภาพ ฉายภาพพฤติกรรม ปรับให้พร้อม เพื่อก้าวไปต่อปี ’ 64” เปิด 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทยที่มีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และประเด็นที่ยังเป็นกระแสต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็น2 หัวข้อ คือ วิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทย 6 ประเด็น และสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 4 ประเด็น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทยมี 6 ประเด็น คือ 1. FAKE NEWS บทเรียนรับมือโรคอุบัติใหม่ พบว่า มีข่าวปลอมบนโลกออนไลน์มากถึง 19,118 ข้อความ จึงเกิดการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News และแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค 2. ผู้ป่วย NCDs กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ทุกครั้งของการเกิดโรคอุบัติใหม่โดยเน้นโรคโควิด-19 โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงถึง 7 เท่า ผู้สูบบุหรี่ 1.5 เท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ 3. Digital Disruption หมุนเร็วขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เกิดพฤติกรรมในช่วงล็อคดาว์ที่ “โลกออนไลน์” เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนค่อนข้างมากและปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ อาทิ การประชุม ช้อปปิ้ง ออกกำลังกาย
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า 4. การออกกำลังกายวิถีใหม่ หลังช่วงล็อกดาวน์คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 ปี เกิดนวัตกรรมเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายขึ้น อาทิ แอปพลิเคชัน “ไร้พุง” ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายในบ้านที่เหมาะสมกับทุกวัย คู่มือมาตรการการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ 5. ภาวะเครียด ผลพวงทางเศรษฐกิจตกต่ำ การเยียวยาด้านสุขภาพจิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญ 6. New Normal ชีวิตวิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มีการพูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากคือ ‘การใช้เจลล้างมือ’ ‘การเว้นระยะห่าง’ ‘การสวมหน้ากากอนามัย’ ‘เรื่องสุขนิสัยและสุขอนามัย’ 212,894 ครั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 92 สะท้อนให้เห็นกระแสความตื่นตัวในเรื่องการรักษาสุขอนามัยส่วนตัวและรับผิดชอบต่อส่วนรวม
“สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตของมนุษยชาติที่ สสส. ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง รองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เร่งการทำงานให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมา ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพ ‘ไทยรู้สู้โควิด’ สร้างกระแสสังคมให้ทุกคนลดความเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ลดพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐอย่างเต็มที่” ผู้จัดการ กองทุน สสส. กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 4 ประเด็นคือ 1. ‘ฝุ่นควัน’ อันตราย จาก PM2.5 พบสัญญาณการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ เกิด ‘โรคมะเร็งปอด’ โดยเฉพาะภาคเหนือ และกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สวนทางกับแนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนในภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 22 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปี 2560 ความเสี่ยงส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหามลพิษทางอากาศ สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำชุดความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศเชิงระบบ ในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ’ และงานวิชาการสมุดปกเขียวอากาศสะอาด 2. “ขยะพลาสติก” กำลังกลับมา ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านคนไทยใช้บริการธุรกิจรับ-ส่งอาหาร เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 800 ตันต่อวัน ขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยพบการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ทำให้บริโภคและหายใจนำไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยปีละ 50,000 อนุภาค
“3. ‘สุขภาพจิต’ วัยรุ่นไทย เมื่อความสัมพันธ์เป็นเหตุ ผลวิจัยความชุกของภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโรงเรียน 13 เขตพื้นที่บริการสุขภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ‘2 ใน 3’ มีภาวะซึมเศร้า และ 4. ตามติดพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย พบคนเมืองแนวโน้มเสียชีวิตโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงกว่าคนนอกเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด 15.2 คนต่อประชากรแสนคน ตามด้วยภาคกลาง 10.9 คนต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ 8.6 คนต่อประชากรแสนคน ภาคอีสานและภาคใต้ 5.5 คนต่อประชากรแสนคนเท่ากัน ในปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น ‘ปีแห่งผักผลไม้สากล’ ทุกภาคส่วนจึงควรกระตุ้นให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า Thaihealth Watch 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 ถือเป็นนวัตกรรมการเชื่อมโยงองค์ความรู้ใน 3 ส่วนจากการสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทำให้เกิดความตระหนักในการหันมาดูแลสุขภาพ ได้แก่ 1. สถานการณ์สุขภาพคนไทย (Situation) จากสถิติสุขภาพ 10 ปี ย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2553–2562 เพื่อเห็นทิศทางหรือแนวโน้มภาระโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงสถิติเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2. กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Trend) ที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในแต่ละประเด็น และ 3. ข้อแนะนำ (Solution) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม อาทิ ร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมสื่อสารทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพคนไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaihealthwatch.thaihealth.or.th/
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร