ข่าวสารกิจกรรม

สสส.ประกาศเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข THAILAND 4.0

Posted On 18/03/2562 By Admin

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00 น. กรมควบคุมมลพิษได้จัดงาน “กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0” ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 กรมควบคุมมลพิษ โดยมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จากนั้นเป็นเวทีเสวนาเรื่อง “องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0 เปิดผลสำรวจสถานการณ์คุณภาพชีวิตข้าราชการไทย และบันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงาน” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. และ ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานและเสริมสร้างศักยภาพองค์กรภาครัฐ ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูล รองหัวหน้าโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานและเสริมสร้างศักยภาพองค์กรภาครัฐ ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ เป็นวิทยากร


นายจตุพร  บุรุษพัฒน์  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2559 จำนวน105 คน พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงบ่อยครั้งหรือเป็นประจำถึง 65%  และไม่เคยออกกำลังกายหรือออกกำลังกายเป็นบางครั้งถึง 71% และมากกว่า 1 ใน 4 มีความเครียดจาการทำงานบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำงานเฉลี่ยเกินสัปดาห์ละ 40 ชม.หรือต้องทำงานเกินเวลาปกติบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินถึง 71% ทำให้เงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการออมอย่างเป็นระบบ


“การสร้างความสุขของคนทำงานด้วยการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับสสส.เพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งความสุข โดยตั้งเป้าหมายการลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจะมีการปรับให้เป็นโรงอาหารกรีนเพื่อส่งเสริมการบริโภคผักและความปลอดภัยจากสารพิษ และเปลี่ยนอาหารว่างในการประชุมเป็นเมนูสุขภาพการชวนขยับกับบันไดสุขภาพและกิจกรรมออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว


นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวในเวทีเสวนาองค์กรสร้างสุข Thailand 4.0 ว่า การเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยุค 4.0 ทรัพยากรมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐถือเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีอัตรากำลังคนในปี 2560 อยู่ถึง 2.84 ล้านคน หากคนในหน่วยงานภาครัฐมีความสุขในการทำงานก็จะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดรายจ่ายทางสุขภาพ อย่างไรก็ตามหากดูจากผลการวิจัยคุณภาพชีวิตคนทำงานภาครัฐ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน3,342 ตัวอย่าง เปรียบเทียบปี 2559 กับ 2553 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีระดับความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 มีค่าเฉลี่ยความสุข 3.8 เทียบกับ 3.3 ในปี 2553 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง เจ้าหน้าที่รัฐมีภาวะน้ำหนักเกิน 53% ในปี 2559 เทียบกับ 50% ในปี 2553 สำหรับความเครียดจากการทำงานพบว่า ปี 2559 กับ 2553 มีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด 22 % เท่ากัน และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานเกินเวลาราชการปกติ 97% ในปี 2559 เทียบกับ 83% ในปี 2553


นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า  ความผูกพันขององค์กรในปี 2559 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐ 45% ตัดสินใจไม่ย้ายงานหากมีองค์กรและตำแหน่งที่ดีเท่ากันมาเสนอ ขณะที่ 38% ไม่แน่ใจ และ 18% พร้อมย้ายไปอยู่ที่ใหม่ อย่างไรก็ตามในมุมของการทำงานพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่พึงพอใจกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เหมาะกับความรู้ความสามารถในระดับที่มาก มีความชัดเจนของเส้นทางความก้าวหน้าในงานที่มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ การมีภาระหนี้สินที่สูงถึง 91% เทียบกับ 79% ในปี 2553 โดยมีข้อสังเกตว่า ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้สินที่มาจากการผ่อนชำระสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท ถึง 41% ดังนั้นบันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงานจึงประกอบด้วย การมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผ่อนคลาย บริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข เป็นต้น สสส. จึงร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และระบบการจัดการสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข โดยมีโปรแกรมวัดสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน ซึ่งในปัจจุบันมีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรภาครัฐ จำนวน 66 องค์กร สิ่งสำคัญในการทำงานคือการสร้างแกนนำนักสร้างสุของค์กร เพื่อเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในองค์กรที่เกิดความยั่งยืนและตอบโจทย์ในแต่ละบริบทขององค์กร


ข่าวสารอื่นๆ

การพัฒนาศักยภาพองค์กรปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรภาครัฐ ครั้งที่ 3

สำหรับการจัดเวทีพัฒนาศักภาพฯ ครั้งที่ 3 นี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Empower) การพัฒนาศักยภาพองค์กรปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรภาครัฐ

View more

ประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน ครั้งที่ 3/2558

View more

HAPPY WORKPLACE WORKING GROUP MEETING 2015

จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ Happy Workplace Working Group Meeting 2015

View more

อบรม “นักสร้างสุของค์กร (นสอ.)” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “นักสร้างสุของค์กร (นสอ.)” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

View more