ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผล หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์และหมั่นรดน้ำพรวนดินอย่างต่อเนื่อง กับแนวคิดเรื่ององค์กรสุขภาวะ หรือ Happy Workplace ที่ฝังตัวสร้างรากแก้วอยู่ในองค์กรของรัฐทั้ง 18 แห่ง มากว่า 2 ปีเต็ม แม้อาจยังไม่แข็งแกร่งเท่ากับองค์กรภาคเอกชนที่ทำเรื่องนี้มานานนับ 10 ปี ทว่า ดอกผลที่เริ่มผลิบาน ก็ช่วยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการไทยไม่น้อย
เพื่อนำเสนอความสำเร็จเบื้องต้น และคาดหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานของรัฐที่สนใจในเรื่ององค์กรสุขภาวะ พร้อมทั้งสร้างเป็นภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ถนนแห่งความสุข” หรือ “Happy Highway” จึงถูกเนรมิตขึ้น ที่กรมชลประทาน สามเสน
โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ “แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ” กับ กรมชลประทาน 1 ใน 18 องค์กรภาครัฐนำร่อง ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ
ภายในงานยังมีการนำองค์ความรู้จากองค์กรภาครัฐที่เซ็น MOU เข้าร่วมโครงการ มาออกบูธเผยเคล็ดลับที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ให้สถานที่ทำงานกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขให้ผู้สนใจได้ชมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กรมราชทัณฑ์ราชบัณฑิตย สถาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมประมง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ส่วนองค์ความรู้น่าสนใจ ที่นำเสนอไว้บนถนนแห่งความสุข จนต้องนำมาบอกต่อ คือ “เทคนิคการสื่อสารออนไลน์” ของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 5 วิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในทำเลห่างกัน จึงยากต่อการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ทางมหาวิทยาลัยจึงได้นำเทคนิคดังกล่าวมาพัฒนา จนสามารถสร้างเวทีความรู้เรื่ององค์กรสุขภาวะร่วมกันได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ทำให้ผลสำรวจการประเมินระดับความสุขของคนในองค์กรจากการทำงานนั้น เพิ่มสูงขึ้นถึง 12.2% จาก 55.7% ก็กลายมาเป็น 67.9% หลังเข้าร่วมโครงการเพียง 8 เดือนเท่านั้น
ไม่ต่างจากอีก 2 องค์กร อย่าง กรมชลประทาน และ เนคเทค ที่แม้ว่ายังไม่สามารถวัดความสุขออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ การวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมุ่งกระจายอำนาจการดำเนินงานลงไปในหน่วยงานระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง และจัด “กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานจำนวน 36 โครงการ” ภายใต้หลัก ความสุข 8 ประการ หรือ Happy 8 ที่แต่ละพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ก็เสริมให้รากฐานการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรกรมชลประทาน ที่ผู้บริหารในอดีตได้ทำไว้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น สามารถจัดการปัญหาและตอบสนองความต้องการของพนักงานได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง
ขณะที่ เนคเทค ก็หันมามุ่งเน้นนโยบาย “การดูแลและรักษาบุคลากรในฐานะทุนมนุษย์” หรือ “Human Capital” เพื่อให้บุคลากรอยู่กับองค์กรในระยะยาวและช่วยขับเคลื่อนงานให้ประสบผล ยังส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ด้วยผลงานวิจัยของสถาบันที่นำมาประยุกต์ใช้อีกด้วย ทำให้ปัจจุบันเนคเทคมีรูปแบบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ชัดเจน และเข้าถึงบุคลากรในวงกว้างมากขึ้น
“วันนี้เป็นการออกมาบอกสังคมว่าแนวคิดเรื่ององค์กรสุขภาวะ สามารถขับเคลื่อนได้จริงในองค์กรภาครัฐ ถึงแม้ยังไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ ถึงค่าความสุขที่เพิ่มขึ้นได้ในทุกองค์กรต้นแบบ เพราะเหลือเวลาอีก 2 เดือน ถึงจะปิดโครงการ และต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ในการวิจัยประเมินผล แต่ก็เป็นผลสำเร็จเบื้องต้นที่มองเห็นได้ว่า มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และความจริงใจในการร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการสร้างองค์กรสุขภาวะ ให้เกิดขึ้นกับองค์กรภาครัฐต่อไป” ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าว
ไม่ใช่ว่าจบโครงการแล้วจะปิดจ็อบทันที หากแต่เรื่อง Happy Workplace ในองค์กรภาครัฐจะถูกสอนต่อให้ออกผลงดงามมากขึ้น ในเรื่องนี้ ดร.ศิริเชษฐ์ เผยให้ฟังว่า มีการวางแผนร่วมกับ สสส. ถึงการทำงานระยะสั้นและระยะยาวในเรื่องไว้คร่าว ๆ แล้ว โดยระยะสั้นในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเลือกพัฒนาองค์กรนำร่องทั้ง 18 หน่วยงานที่มีความพร้อม ให้กลายเป็นองค์กรต้นแบบที่สามารถดูและตัวเองได้ และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงลึกให้แก่องค์กรภาครัฐอื่น ๆ ที่สนใจได้ จำนวน 5-10 องค์กร ในขณะเดียวกันก็จะขยายฐานองค์กรนำร่องไปสู่หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่มีอยู่ราว 130-140 องค์กรด้วย
“นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวกับการพัฒนาองค์กรภาครัฐไปสู่องค์กรสุขภาวะในอีก 10 ปี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน และจะสอดแทรกด้วยแผนยุทศาสตร์พัฒนาระยะสั้น ในเรื่องการทำงานของข้าราชการในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะไปตอบคำถามคนทำงานว่า การทำงานแบบอาเซียนคืออะไร ทำแล้วจะมีความสุขหรือไม่ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ข้าราชการไทยพร้อมแข่งขันบนเวทีนี้”
ด้าน สุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร สสส. บอกว่า ต้องชื่นชมผู้บริหารและนักสร้างสุของค์กร ที่มีวิสัยทัศน์และมุ่งมั่น เชื่อว่าเมื่อบุคลากรองค์กรภาครัฐมีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพ มีความสุขในการทำงาน ผลงานที่สะท้อนไปสู่ประชาชนจะดีขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลง.
ที่มา: ไทยโพสต์